โครงสร้างองค์กร คืออะไร ? มีความสำคัญอย่างไรกับธุรกิจของคุณ
- Phannita Yoddamnoen
- 7 ชั่วโมงที่ผ่านมา
- ยาว 1 นาที

โครงสร้างองค์กรหรือแผนผังองค์กรเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการบริหารจัดการธุรกิจ การกำหนดบทบาทและความรับผิดชอบของพนักงานแต่ละคนในองค์กรช่วยให้การทำงานมีระเบียบและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ในบทความนี้เราจะพาคุณไปทำความเข้าใจว่าโครงสร้างองค์กรคืออะไร และทำไมมันถึงสำคัญต่อความสำเร็จของธุรกิจ
โครงสร้างองค์กร คืออะไร
โครงสร้างองค์กร คือ แผนผังที่กำหนดวิธีการจัดระเบียบตำแหน่งงาน บทบาท และความรับผิดชอบภายในองค์กร เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างเป็นระเบียบและมีประสิทธิภาพ การออกแบบแผนผังองค์กรจะช่วยกำหนดว่าใครทำหน้าที่อะไร ใครรายงานต่อใคร และการตัดสินใจต่าง ๆ จะเกิดขึ้นอย่างไร ส่วนมากโครงสร้างองค์กรจะถูกนำเสนอในรูปแบบแผนภูมิหรือไดอะแกรม โดยผู้ที่มีอำนาจบริหารสูงสุดจะอยู่ด้านบน และผู้ที่อำนาจน้อยสุดจะอยู่ด้านล่าง
การไม่มีแผนผังองค์กรอย่างเป็นทางการ อาจทำให้องค์กรหรือบริษัทเผชิญกับความยากลำบากในการบริหารจัดการภายในองค์กร พนักงานจะไม่รู้เลยว่าควรรายงานการทำงานกับใคร ซึ่งอาจนำไปสู่ความไม่ชัดเจนว่าใครรับผิดชอบหน้าที่อะไรภายในองค์กร

โครงสร้างองค์กร มีความสำคัญต่อธุรกิจอย่างไร ?
โครงสร้างองค์กรช่วยให้ธุรกิจตัดสินใจได้เร็วและแม่นยำมากขึ้น เพราะแต่ละคนมีหน้าที่ชัดเจน โดยเฉพาะเมื่อตำแหน่งงานระดับล่างได้รับมอบหมายให้ทำงานเฉพาะทาง ก็จะช่วยให้การตัดสินใจในแต่ละส่วนเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ แผนผังองค์กรยังช่วยให้มองเห็นภาพรวมของทรัพยากรบุคคลในองค์กรผ่านแผนผังหรือโครงสร้างงานที่ชัดเจน ตอนที่ธุรกิจยังมีขนาดเล็ก ทุกคนอาจจะทำหลายหน้าที่พร้อมกันจนดูไม่จำเป็นต้องมีแผนผังมาคอยกำหนดบทบาทหน้าที่ แต่พอองค์กรเริ่มเติบโต ขนาดองค์กรใหญ่มากขึ้น งานของแต่ละคนก็จะเริ่มแยกกันชัดเจนขึ้น ทีมใหญ่ขึ้น พร้อมกับมีจำนวนแผนกที่มากขึ้นตามมา การมีแผนผังบริษัทจึงช่วยให้เห็นว่าเรายังขาดการสนับสนุนจากแผนกใดไหนอีกบ้าง
โครงสร้างองค์กรที่ชัดเจนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการและสร้างความเข้าใจให้กับพนักงานทุกแผนก ทุกระดับ โครงสร้างองค์กรที่ดีนั้น สามารถทำให้องค์กรหรือบริษัทบรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้ง่ายขึ้น
ถ้าองค์กรยังไม่มีโครงสร้างที่ชัดเจน นี่คือเวลาที่ต้องเริ่มจัดระบบ—เพราะมันคือจุดเริ่มต้นของการเติบโตที่มั่นคง
ประเภทของโครงสร้างองค์กร มีอะไรบ้าง
1. โครงสร้างแบบแบ่งตามหน้าที่ (Functional Structure)
โครงสร้างแบบนี้เป็นแบบที่ใช้กันมากที่สุด และมักพบในองค์กรขนาดเล็กถึงขนาดกลาง บางครั้งเรียกว่าโครงสร้างแบบราชการ (Bureaucratic Structure) ซึ่งจะแบ่งองค์กรตามความเชี่ยวชาญของพนักงาน เช่น แผนกการตลาด ฝ่ายขาย และฝ่ายปฏิบัติการ ซึ่งแต่ละแผนกจะทำหน้าที่เฉพาะด้านของตน
2. โครงสร้างแบบแบ่งตามสายธุรกิจ (Divisional หรือ Multidivisional Structure)
โครงสร้างนี้เหมาะกับองค์กรขนาดใหญ่ที่มีหลายผลิตภัณฑ์ หลายโปรเจกต์ หรือหลายบริษัทในเครือ ตัวอย่างเช่น Johnson & Johnson ที่มีผลิตภัณฑ์จำนวนมาก บริษัทจะจัดโครงสร้างให้แต่ละหน่วยธุรกิจดำเนินงานเหมือนเป็นบริษัทย่อย มีประธานบริษัทของตัวเอง ราวกับเป็นบริษํทย่อยๆ ภายในองค์กรขนาดใหญ่ แต่ละบริษัทย่อยสามารถมีทีมการตลาด ผ่ายขาย หรือทีม IT ของตนเอง การที่มีโครงสร้างองค์กรแบบนี้ช่วยให้แต่ละบริษัทย่อยสามารถตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่จำเป็นต้องมารอการอนุมัติจากผู้บริหารระดับสูง ทำให้การดำเนินงานที่ความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น
3. โครงสร้างแบบทีม (Team-Based Structure)
เป็นการจัดองค์กรให้แต่ละทีมทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อบรรลุเป้าหมายเฉพาะทาง ทีมจะประกอบด้วยทั้งผู้นำและสมาชิก ซึ่งคล้ายกับโครงสร้างแบบหน้าที่หรือแบบสายธุรกิจ แต่เน้นความยืดหยุ่นและการทำงานร่วมกันมากกว่า
4. โครงสร้างแบบราบ (Flat หรือ Flatarchy Structure)
โครงสร้างนี้มักใช้ในสตาร์ทอัพหรือบริษัทที่ต้องการความเร็วในการตัดสินใจ มีการลดลำดับชั้นการบังคับบัญชาให้น้อยที่สุด เปิดโอกาสให้พนักงานมีอิสระในการทำงานสูง พนักงานทุกคนมีส่วนร่วมในกระบวนการทำงานน ทำให้สามารถปรับตัวและดำเนินงานได้อย่างรวดเร็ว
5. โครงสร้างแบบแมทริกซ์ (Matrix Structure)
เป็นโครงสร้างที่ซับซ้อนที่สุด และไม่ค่อยใช้กันแพร่หลาย พนักงานอาจมีผู้บังคับบัญชาหลายคนจากหลายแผนก เช่น พนักงานคนหนึ่งอาจมีหน้าที่ทั้งในฝ่ายขายและฝ่ายบริการลูกค้าในเวลาเดียวกัน ซึ่งช่วยให้เกิดการบูรณาการระหว่างทีม แต่ก็อาจเกิดความสับสนได้
6. โครงสร้างแบบวงกลม (Circular Structure)
โดยปกติจะยังมีลำดับชั้นเหมือนโครงสร้างทั่วไป แต่ถูกจัดให้อยู่ในรูปวงกลม โดยผู้บริหารระดับสูงจะอยู่ตรงกลาง ล้อมรอบด้วยพนักงานระดับต่าง ๆ ที่กระจายออกไป การจัดแผนผังแบบนี้มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการสื่อสารแบบเปิด และสร้างความร่วมมือระหว่างลำดับชั้น
7. โครงสร้างแบบเครือข่าย (Network Structure)
โครงสร้างนี้เน้นการทำงานร่วมกับผู้รับเหมาภายนอกหรือบริษัทที่ปรึกษา โดยสำนักงานใหญ่จะมีขนาดเล็ก และมีสำนักงานย่อยกระจายตามพื้นที่ต่าง ๆ พร้อมกับการจ้างผู้เชี่ยวชาญภายนอกมาดูแลหน้าที่เฉพาะด้าน เช่น IT, การตลาด หรืองานบริการลูกค้า
8. โครงสร้างแบบยึดตามกระบวนการ (Process-based Structure)
โครงสร้างองค์กรแบบนี้จะจัดพนักงานเป็นกลุ่มหรือแผนกตามลำดับขั้นตอนของกระบวนการทำงาน โดยผู้นำจะอยู่ด้านบนสุดของแผนผัง ซึ่งทำหน้าที่เป็นคนดูแลภาพรวมของทุกกระบวนการ ในแต่ละขั้นตอนของกระบวนการจะมีผู้ดูแลและพนักงานที่รับผิดชอบงานเฉพาะส่วนนั้น โครงสร้างจะถูกเรียงลำดับจากซ้ายไปขวา โดยกระบวนการถัดไปจะไม่สามารถเริ่มได้จนกว่ากระบวนการก่อนหน้าจะเสร็จสมบูรณ์แล้ว

ประโยชน์ของโครงสร้างองค์กร
กำหนดลำดับชั้นและโครงสร้างเงินเดือน ช่วยให้องค์กรหรือบริษัทวางลำดับขั้นของตำแหน่งงานได้อย่างเป็นระบบสามารถกำหนดระดับเงินเดือนและช่วงเงินเดือนของแต่ละตำแหน่งได้ชัดเจน
เพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน โดยแยกพนักงานและหน้าที่ตามแผนก ทำให้องค์กรสามารถดำเนินงานหลายๆ ด้านพร้อมกันได้อย่างราบรื่น และทำให้การทำงานมีความชัดเจนมากขึ้น
ช่วยจัดการการทำงานซ้ำซ้อน แผนผังบริษัทจะช่วยแบ่งพนักงานออกเป็นทีมตามความเชี่ยวชาญและทักษะของแต่ละคน ซึ่งจะช่วยให้องค์กรหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการทำงานซ้ำซ้อนที่อาจขัดขวางประสิทธิภาพในการทำงาน
ช่วยให้พนักงานเข้าใจบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของตนเอง พนักงานจะรู้ว่าควรทำงานอย่างไร และติดต่อใครเมื่อมีปัญหาหรือข้อสงสัย มีแนวทางหรือขั้นตอนที่ชัดเจนในการทำงาน
โครงสร้างองค์กรช่วยขจัดความขัดแย้งระหว่างพนักงานระดับล่าง โดยการกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบของพนักงานให้ชัดเจน ทำให้พนักงานสามารถมุ่งเน้นที่งานและความรับผิดชอบของตนได้
ช่วยพนักงานมองเห็นเส้นทางการเติบโตในองค์กร พนักงานสามารถประเมินตนเองและตั้งเป้าหมายการเติบโตในหน้าที่การงานได้
อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่าเบื้องหลังโครงสร้างองค์กรหรือแผนผังบริษัท คือ “คนจริง ๆ” ซึ่งพนักงานแต่ละคนก็มีวิธีการทำงานและสไตล์ที่การทำงานแตกต่างกัน ถ้าไม่มีการสื่อสารให้เข้าใจว่าทำไมต้องเปลี่ยนแปลง หรือเปลี่ยนเพราะอะไร พนักงานอาจรู้สึกต่อต้าน และกระทบต่อการดำเนินงานได้
โครงสร้างองค์กร เป็นการจัดระเบียบพนักงานและกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบในแต่ละตำแหน่งงานเพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างมีระเบียบและชัดเจน การออกแบบโครงสร้างที่ดีจะช่วยให้ทุกคนเข้าใจบทบาทของตนเองในองค์กร ทำให้การตัดสินใจและการดำเนินงานเป็นไปได้อย่างราบรื่น
และถ้าคุณกำลังหาแนวทางพัฒนาธุรกิจ การตลาด หรือฝ่ายจัดซื้อ–จัดจ้าง การเข้าใจโครงสร้างของ “องค์กรหรือบริษัทอื่น ๆ” ก็สำคัญไม่แพ้กัน!! เพราะโครงสร้างองค์กรของคู่ค้า นักลงทุน หรือแม้แต่คู่แข่ง สามารถบอกได้ว่าใครเป็นผู้ตัดสินใจ มีใครอยู่เบื้องหลังบริษัทนั้นบ้าง หรือมีบริษัทไหนเกี่ยวข้องกันอยู่ในเครือข่ายอีกบ้าง
ทดลองใช้ Corpus X เพื่อค้นหาและเข้าใจโครงสร้างองค์กรของบริษัทอื่น ๆ ได้ในคลิกเดียว ไม่ว่าจะตรวจสอบรายชื่อกรรมการ ดูผังความเชื่อมโยงระหว่างบริษัท พร้อมวิเคราะห์ Insight ที่ใช้วางแผนเชิงกลยุทธ์ได้จริง